เรื่องเล่าเหล่าหอคอย (1)

ตอน หอคอยโตเกียว...ความหวังและความฝันอันรุ่งโรจน์

แม้ว่าในยุคปัจจุบันโตเกียวสกายทรี (Tokyo Skytree) จะเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ทว่า หอคอยโตเกียว (東京タワ / Tokyo Tower) นั้นก็ยังคงอยู่ในจิตใจของคนญี่ปุ่นตลอดกาล และยังคงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนอยากแวะเวียนไปเยือนไม่เสื่อมคลาย

สัญลักษณ์แห่งความหวังและความฝันอันรุ่งโรจน์นี้อาจไม่มีใครเข้าใจดีอย่างลึกซึ้งเท่าคนญี่ปุ่น ภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองสงบลงในปี ค.ศ.1945 นั้น โตเกียวเป็นหนึ่งในพื้นที่ของญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งระเบิดทำลายอย่างย่อยยับ ในเวลาที่ประเทศต้องกอบกู้ความหวังของประชาชนและฟื้นฟูสร้างชาติกันใหม่นั้น หนึ่งในแผนที่ญี่ปุ่นจะก้าวขึ้นมายืนในเวลาโลกอีกครั้งก็คือแผนการก่อสร้างหอคอยนั่นเอง การสร้างหอคอยนั้นมีนัยยะและวัตถุประสงค์ซ่อนอยู่มากมาย ทางด้านการใช้ประโยชน์นั้นหอคอยแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งส่งสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งนั่นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะใช้สื่อสารกับเหล่าประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ปลุกใจเพื่อสร้างชาติ ในขณะเดียวกันผู้คนต่างก็เฝ้ารอการก่อตัวของหอคอยอย่างใจจดใจจ่อ หอคอยโตเกียวนี้จึงเป็นเสมือนจุดรวมใจคนญี่ปุ่นในยุคนั้นไปโดยปริยาย

อันที่จริงแล้วการสร้างหอคอยแห่งนี้ขึ้นนั้นญี่ปุ่นต้องการใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประกาศศักยภาพของตนเองในระดับโลกขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ต้องตกเป็นประเทศแพ้สงคราม การมีหอไอเฟล (Eiffel Tower) เป็นแรงบันดาลใจต้นแบบนั้นก็เพื่อตั้งใจที่จะประกาศต่อชนชาติตะวันตกว่าญี่ปุ่นก็มีศักยภาพในการสร้างสถาปัตยกรรมล้ำๆ (ในยุคนั้น) ได้ไม่แพ้กัน แถมมีศักยภาพที่เหนือกว่าอีกด้วย ฉะนั้นเหล่าชาวญี่ปุ่นจึงทุ่มพัฒนาเทเทคโนโลยีทุกอย่างเพื่อที่จะประกาศศักยภาพที่เหนือกว่าผ่านการสร้างหอคอยครั้งนี้

ถึงแม้จะไม่สำเร็จตามเป้านักแต่มันก็สำเร็จได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว เพราะความจริงแล้วญี่ปุ่นจงใจสร้างหอคอยนี้ให้สูงกว่าตึก Empire State Building ในมหานครนิวยอร์กซึ่งสูงราว 381 เมตร และครองตำแหน่งสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโลกในขณะนั้น แต่ท้ายที่สุดแล้วหอคอยแห่งนี้ก็ถูกสร้างสำเร็จที่ระดับความสูง 333 เมตร เหนือกว่าหอไอเฟลในตอนนั้นที่สูง 324 เมตร ภายหลังจากที่สร้างเสร็จหอคอยโตเกียวก็ครองตำแหน่งหอคอยที่สูงที่สุดในโลกในยุคนั้นไปครองแทนทันที นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีหล่อแบบให้เป็นชิ้นส่วนใหญ่ๆ ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีอันทันสมัยที่ญี่ปุ่นคิดค้นขึ้นในสมัยนั้นก่อนที่จะยกนำมาประกอบเป็นโครงสร้างใหญ่อีกครั้ง เทคโนโลยีนี้เป็นผลให้หอคอยแห่งนี้สร้างเสร็จอย่างรวดเร็วกว่าหอไอเฟลอีกด้วย ที่สำคัญถึงแม้หอคอยแห่งนี้จะยิ่งใหญ่อลังการกว่าหอไอเฟลแต่ทว่ามันกลับมีน้ำหนักที่เบากว่าถึง 3,300 ตัน เลยทีเดียว (หอคอยโตเกียวหนัก 4,000 ตัน) อันเป็นการโชว์ศักยภาพของเทคโนโลยีด้านวัสดุไปในตัวด้วย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ญี่ปุ่นสามารถ(จงใจ)ประกาศศักยภาพที่เทียบทันไม่แพ้ชนชาติใดในตะวันตกโดยสมบูรณ์ และเป็นการประกาศแสนยานุภาพของมหาอำนาจแห่งเอเชียไปกลายๆ โดยใช้สัญลักษณ์ใหม่ที่ไม่ใช่การรุกรานโดยสงคราม

หากใครที่เคยได้ดูภาพยนตร์ Always : Sunset on Third Street ทั้งสามภาค ก็อาจจะเห็นภาพและเข้าใจความรู้สึกรวมชาติและสร้างชาติโดยใช้หอคอยโตเกียวได้มากยิ่งขึ้น หอคอยแห่งความหวังของคนโตเกียวและคนทั้งชาตินั้นเป็นเหมือนความทรงจำแห่งความรุ่งเรืองที่ไม่มีวันจางหายไปจากคนญี่ปุ่นแน่นอน ภายหลังจากที่สร้างเสร็จนั้นนอกจากหน้าที่หลักในการเป็นสถานีกระจายสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุแล้วนั้น หน้าที่รองอันสำคัญอย่างการเป็นเจ้าบ้านต้อนรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวหรือแม้แต่คนญี่ปุ่นเองที่ก็ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่จะทำให้คนในชาติเกิดความภาคภูมิใจในชาติตนทางอ้อมนั่นเอง

---------------------------------------------------------------

ลองรู้จักหอคอยที่รักให้มากขึ้นกว่าเก่า...

Always : Sunset on Third Street : มหากาพย์ภาพยนตร์พีเรียดแห่งแดนอาทิตย์อุทัยนี้ออกฉายในยุคสร้างชาติแห่งศตวรรษใหม่อีกครั้ง โดยมันออกฉายในปี ค.ศ.2005 ซึ่งสร้างคลื่นแห่งน้ำตาและความประทับใจไปทั่วโลก และทำให้คนหันมาหลงรักหอคอยแห่งนี้กันอีกครั้ง ตอนนี้หนังเรื่องนี้มีไตรภาค (ที่คาดว่าจะมีภาคต่อไปอีก) แต่ดังตั้งแต่เรื่องแรกที่เมื่อแรกฉายก็กวาดทั้งเงินและกล่อง รวมไปถึงคำวิจารณ์ในระดับที่ทุกคนต้องยกนิ้วให้ รายได้นั้นถึงขั้นติดอันดับ 1 ใน 10 หนังทำเงินสูงสุดในญี่ปุ่น และภาคแรกก็กวาดรางวัลจากเวที Japan Academy Prize ถึง 12 ตัว จากการเข้าชิง 14 รางวัล (มากเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ญี่ปุ่น) รวมไปถึงการคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2006 อีกด้วย

หนังเรื่องนี้หยิบการ์ตูนเรื่อง Sunset on 3rd Street ของ SAIGAN Ryohei มาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ได้อย่างน่าประทับใจ ทุกฉากดำเนินเรื่องด้วยชีวิตหลากหลายที่โคจรทับซ้อนกันอยู่บนถนนสายที่ 3 ในเขตยูฮีของโตเกียวในช่วงปีโชวะที่ 33 หรือราวๆ ปี ค.ศ.1958 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังสร้างหอคอยโตเกียวพอดิบพอดี และหอคอยนี้ก็ถูกหยิบมาเป็นแกนสำคัญหนึ่งในการเล่าเรื่องราวของทั้งสองภาคอีกด้วย สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกแปลเป็นชื่อภาษาไทยที่แสนกินใจว่า ถนนสายนี้ หัวใจไม่เคยลืม ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ ที่เราจะซาบซึ้งกับหอคอยแห่งความหวังอันรุ่งเรืองของญี่ปุ่นนี้

---------------------------------------------------------------

สำหรับหน้าที่หลักของหอคอยแห่งนี้ก็คือการเป็นหอคอยสื่อสารที่ใช้ส่งสัญญาณคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ต่างๆ มากมาย อาทิ NHK, FUJI TV, TBS เป็นต้น ด้านบนหอคอยนั้นเปิดให้เราขึ้นไปเยี่ยมชมได้ 2 ระดับ ระดับแรกคือชั้นชมวิวหลัก (Main Observatory) ที่ระดับความสูง 150 เมตร ชั้นนี้เราสามารถเดินชมวิวโตเกียวจากมุมสูงได้รอบหอคอยแบบ 360 องศา นอกจากนั้นก็ยังมีคาเฟ่เล็กๆ สไตล์ฝรั่งเศสอย่าง Café la Tour และ Club 333 เวทีดนตรีชิลๆ ยามค่ำที่เป็นหนึ่งในสถานที่แฮงค์เอาท์สุดคลาสสิกของโตเกียวเลยทีเดียว แต่ถ้าใครอยากชมวิวในมุมที่สูงขึ้นไปอีกก็สามารถซื้อตั๋วขึ้นไปยังจุดชมวิวชั้นพิเศษ (Special Observatory) ที่ระดับ 250 เมตร ได้ซึ่งจุดชมวิวด้านบนนั้นสามารถเดินชมวิวเมืองในมุมสูงได้แบบ 360 องศาเช่นกัน และถูกยกย่องว่าเป็นจุดชมวิวเมืองโตเกียวที่สวยที่สุดอีกด้วย แต่ถ้าอยากจะสัมผัสอย่างใกล้ชิดมากๆ ล่ะก็แนะนำให้ไต่บันไดจากฐานหอคอยไปยังด้านบน (ราว 600 ขึ้น) ด้วยตัวของตัวเอง นอกจากลมชิลๆ เย็นๆ เรายังจะได้เห็นวิวสวยเพลินๆ และได้สัมผัสเหล็กกล้าอันตระหง่านที่ผ่านร้อนผ่านหนาวเป็นความหวังแห่งชาติอันรุ่งเรืองมากเกือบ 60 ปี เลยทีเดียว

หอคอยโตเกียว (Tokyo Tower)

ที่ตั้ง : แขวงชิบะโคเอ็น (Shiba-koen), เขตมินาโตะ(Minato), โตเกียว

เปิด-ปิด : เปิดบริการทุกวัน > ชั้น Main Observatory (ที่ระดับ 150 เมตร) 09.00-22.00 น. / ชั้น Special Observatory (ที่ระดับ 250 เมตร) 09.00-21.30 น.

ค่าบริการเข้าชม :

>ชั้น Main Observatory (150 เมตร) : ผู้ใหญ่ 820 เยน / เด็กประถม-มัธยมต้น 460 เยน / เด็กเล็ก (4 ขวบขึ้นไป) 310 เยน

>ชั้น Special Observatory (250 เมตร) : ผู้ใหญ่ 600 เยน / เด็กประถม-มัธยมต้น 400 เยน / เด็กเล็ก (4 ขวบขึ้นไป) 350 เยน

การปีนบันไดไต่หอคอย

>เปิดบริการ : เฉพาะวันเสาร์, อาทิตย์, และวันหยุด (หากสภาพอากาศเลวร้ายจะปิดบริการ)

>เวลาให้บริการ : 11.00-16.00 น.

>ค่าบริการ : ซื้อตั๋วชั้น Main Observatory (150 เมตร) แบบปกติ / แต่เมื่อปีนบันได้ขึ้นไปถึงด้านบนสุดแล้วจะมีเกียรติบัตร (Certificate) ใบเล็กๆ พร้อมลำดับเฉพาะตัวที่จะบอกว่าเราปีนขึ้นมาด้านบนนี้เป็นคนที่เท่าไรมอบให้อีกด้วย

หมายเหตุ 1 : หากไม่ซื้อตั๋วรวมทั้งสองชั้นตั้งแต่ตอนแรก สามารถซื้อตั๋วเพื่อขึ้นไปยังชั้น Special Observatory ได้ที่ชั้น Main Observatory

หมายเหตุ 2 : เมื่ออากาศแปรปรวนอย่างหนัก ชั้น Special Observatory จะปิดทำการ

วิธีเดินทาง :

>วิธีที่ 1 : นั่งรถไฟใต้ดิน Tokyo Metro สาย H-Hibiya Line (สีเทา) ลงสถานี H05-Kamiyacho ทางออก 1 (Exit 1) เสร็จแล้วเดินไปอีกราว 7 นาที

>วิธีที่ 2 : นั่งรถไฟใต้ดิน Toei Line สาย E-Oedo Line (สีชมพู) ลงสถานี E21- Akabanebashi ทางออก Akabanebashi Gate เสร็จแล้วเดินไปอีกราว 5 นาที

>วิธีที่ 3 : นั่งรถไฟใต้ดิน Toei Line สาย I-Mita Line (สีน้ำเงิน) ลงสถานี I06-Onarimon ทางออก A1 (Exit A1) เสร็จแล้วเดินไปอีกราว 6 นาที

>วิธีที่ 4 : นั่งรถไฟใต้ดิน Toei Line สาย A-Asakusa Line (สีส้มแดง) ลงสถานี A09-Daimon ทางออก A6 (Exit A6) เสร็จแล้วเดินไปอีกราว 10 นาที

>วิธีที่ 5 : นั่งรถไฟ JR Line สายวงกลม Yamanote Line (สีเขียว) ลงสถานี Hamamatsucho St. ทางออก North Exit เสร็จแล้วเดินไปอีกราว 15 นาที

ติดต่อ/เว็บไซต์ : www.tokyotower.co.jp

0
0
¿El artículo fue útil?
Help us improve the site
Give Feedback

Deje un comentario

Thank you for your support!

Your feedback has been sent.